สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่
Office of Agricultural Extension and Development Region 6, Chiang Mai

คลังความรู้

การปลูกดอกมากาเร็ตและพีค็อก

10 ก.ค. 2563
    กดที่รูปเพื่อขยาย

ลักษณะทางพฤษศาสตร์
    มากาเร็ต มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Argyranthemum frutescens (Chrysanthemum fructescens) และมีชื่อสามัญหลายชื่อ ได้แก่ Marguerite, Marguerite Daisy, Michaelmas Daisy, Boston Daisy, Paris Daisy, Cobbity Daisy และ Dill Daisy อยู่ในวงศ์ Asteraceae (Compositae) เป็นไม้ล้มลุกอายุยืนหลายปี ต้นสูงประมาณ 1 - 2 ฟุต ต้นมีลักษณะเป็นพุ่มเลื้อยตามพื้นดิน มีข้อปล้องสั้นและสามารถงอกต้นใหม่ได้ตามข้อ ใบเป็นใบเดี่ยว มีขนละเอียด รูปใบหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นหยักซี่ฟัน ใบออกแบบเรียงสลับกัน ออกดอกได้ตลอดทั้งปี ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกชั้นเดียวหรือสองชั้น ช่อดอกมีสีม่วง ขาวน้ำเงิน และชมพู ตรงกลางไส้ดอกเป็นสีเหลือง แอสเตอร์ชนิดต้นสูงมักเรียกว่า Michaelmas Daisy มีมากมายหลายพันธุ์ มักจะปลูกเป็นไม้ประดับสวน นิยมปลูกจากเมล็ด และสามารถขยายพันธุ์ได้จากหน่อ บางชนิดปลูกเป็นไม้ตัดดอก มักขยายพันธุ์โดยการตัดชำ แยกกอและหน่อ เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินร่วน
มีการระบายน้ำดี ชอบอากาศหนาว การปลูกถ้าปลูกลงดินจะดีกว่าเพราะเป็นไม้ที่มีลำต้นเลื้อยตามพื้นดิน ถ้ากระถางเล็กอาจทำให้ต้นมากาเร็ตไม่สามารถเลื้อยได้ดี ทำให้การเจริญเติบโตอาจไม่เต็มที่ มากาเร็ตเป็น
ไม้ดอกที่มีความหมายดี คำว่า “มากาเร็ต” มีความหมายว่า ความจริงใจ รักแท้
    พีค็อก หรือ คัดเตอร์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Symphyotrichum ericoides (Aster ericoides) และมีชื่อสามัญหลายชื่อ ได้แก่ White Heath Aster, Frostweed Aster, Many-flowered Aster และ White Prairie Aster เมื่อนำมาปลูกในประเทศไทย เรียกว่า Aster Peacock อยู่ในวงศ์ Asteraceae เช่นเดียวกับมากาเร็ต เป็นพืชที่แตกกิ่งก้านได้ดี ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวอ่อน ขอบใบเรียบรูปใบหอก ก้านใบสั้น ออกดอกตามปลายยอดหรือปลายกิ่ง ดอกเป็นเดี่ยวออกดอกชั้นเดียวหรือสองชั้นมีหลายสี เช่น ขาว น้ำเงิน เหลือง ชมพู เป็นต้น ช่อดอกมีสีขาว ตรงกลางไส้ดอกเป็นสีเหลือง มีทั้งพันธุ์ต้นสูงและต้นเตี้ย สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่มีแสงแดดจัด ดินระบายน้ำดี อากาศค่อนข้างเย็นในทางภาคเหนือ ฤดูที่ปลูกได้ผลดีที่สุดคือฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคมแต่ปัจจุบันพีค็อกสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคและทุกฤดู แต่ถ้าปลูกในฤดูร้อนควรมีการพรางแสงบ้างเพื่อไม่ให้ต้นแคระแกรน ดอกพีค็อกนอกจากจะปลูกเพื่อถอนต้นขายแล้วยังเป็นไม้ตัดดอกและไม้กระถางก็ได้การถอนขึ้นมาทั้งต้นนั้น เมื่อผู้ซื้อนำไปปักแจกัน รากจะสามารถดูดน้ำขึ้นไปเลี้ยงลำต้นและดอกได้ดีกว่าไม้ดอกที่ตัดมาจากต้น ทำให้ดอกพีค็อกบานทนกว่าไม้ดอกชนิดอื่น ๆ จึงเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย
ชนิดและสายพันธุ์
    เนื่องจากมากาเร็ตและพีค็อกเป็นไม้ดอกสายพันธุ์หนึ่งของแอสเตอร์ ซึ่งแอสเตอร์ที่ปลูกทั่วไปมีหลายพันธุ์ ดังนี้
    1. แอสเตอร์จีน (China Aster)
     1.1 พันธุ์พาวเดอร์ฟัฟฟ์ (Powder puff) พุ่มต้นขนาดกลางสูงประมาณ 15 - 24 นิ้ว กลีบดอกสั้น ซ้อนกันแน่นและบิดเล็กน้อย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอก 2 - 3 นิ้ว เจริญเติบโตได้ดีในที่มีอากาศเย็น โดยเฉพาะในฤดูหนาวของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเป็นพันธุ์ที่เหมาะจะปลูกเพื่อถอนต้นจำหน่าย ต้านทานโรคเหี่ยวได้ดี
[1]ภาพที่ 1 พันธุ์พาวเดอร์ฟัฟฟ์
     1.2 พันธุ์แดงไส้เหลือง พุ่มต้นเตี้ย สูงไม่เกิน 24 นิ้ว ดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกชั้นนอกมีสีแดง ไส้กลางสีเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกประมาณ 1 - 1.5 นิ้ว ออกดอกเร็ว ก้านช่อดอกและต้นสีเปลือกมังคุด เป็นต้นพันธุ์ที่ติดเมล็ดดี จึงนิยมที่จะปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ ไม่มีผลกระทบต่อช่วงแสงและและอุณหภูมิจึงปลูกได้ตลอดปี ทุกภูมิภาคของประเทศไทย แตกกิ่งก้านและดอกแน่นก้านดอกแข็งและตั้งตรงจึงเหมาะที่จะถอนต้นล้างรากนำปักแจกันหรือใช้ดอกทำช่อดอกไม้ได้ดี จึงเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมาก
[2]ภาพที่ 2 พันธุ์แดงไส้เหลือง
    2. Aster ericoides
     2.1 แอสเตอร์ดาวเงิน หรือ นิยมเรียกกนัว่า “พีค็อก” เป็นแอสเตอร์ที่นิยมปลูกกันมากที่สุด ดอกมีขนาดเล็กเป็นช่อ ดอกชั้นนอกสีขาว ดอกชั้นในสีเหลือง ใบเรียวเล็ก ขอบใบเรียบ แตกกิ่งก้านสาขามากมาย เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ตัดดอกได้ดี
[3]ภาพที่ 3 แอสเตอร์ดาวเงิน หรือ พีค็อก
     2.2 แอสเตอร์ดาวทอง เป็นแอสเตอร์พันธุ์ใหม่ที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย และสามารถปลูกได้ดี ดาวทองหรือ Solidaster เป็นลูกผสมข้ามระหว่างสร้อยทอง (Solidago) และ แอสเตอร์ (Aster ptarmicioides) ปลูกง่าย ขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด ดอกเป็นช่อ แตกกิ่งสาขามากมายดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองทั้งดอกชั้นนอกและชั้นใน แต่เมื่อบานนาน ๆ สีดอกจะจางลงเป็นสีครีม ใบเรียวเล็ก ขอบใบเรียบ
[4]ภาพที่ 4 แอสเตอร์ดาวทอง
                  2.3 แอสเตอร์ดาวชมพู ดอกมีลักษณะคล้ายดาวเงิน ต่างกันที่ดอกชั้นนอกจะมีสีชมพูอ่อน ดอกชั้นในสีเหลือง เมื่อบานนาน ๆ ดอกจะซีดจางลง ดอกขนาดใหญ่กว่าดาวเงินเล็กน้อย ออกดอกเป็นช่อ แตกกิ่งสาขามากมาย ใบเรียวขนาดใหญ่กว่าดาวเงิน ขอบใบเรียบ
[5]ภาพที่ 5 แอสเตอร์ดาวชมพู
     2.4 แอสเตอร์ดาวพระศุกร์ บางทีเรียกว่า "มากาเร็ต" ดอกมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดากลุ่มนี้ ดอกชั้นนอกมีสีม่วงแกมน้ำเงิน ดอกชั้นในมีสีเหลือง ช่อดอกแข็งแรงตั้งตรง แตกกิ่งย่อยสั้น ขนาดเท่าๆ กัน
ใบอ้วนกว้าง ขอบใบหยัก นิยมปลูกประดับแปลง ปัจจุบันใช้เป็นไม้ตัดดอกได้แต่มีอายุการใช้งานสั้นกว่าดาวเงิน
[6]ภาพที่ 6 แอสเตอร์ดาวพระศุกร์ หรือ มากาเร็ต
     2.5 แอสเตอร์ดาวอังคาร ดอกขนาดกลาง ดอกชั้นนอกมีสีชมพูสวยงาม ดอกชั้นใน
มีสีเหลือง ดอกออกเป็นช่อแตกกิ่งมากมาย ใบอ้วนใหญ่ ขอบใบเรียบ ใช้ปลูกประดับแปลงและใช้เป็น
ไม้ตัดดอกได้แต่บานไม่ทน แอสเตอร์นี้ปลูกกันในเมืองไทยนานแล้วโดยปลูกคู่กับแอสเตอร์ดาวพระศุกร์
[7]ภาพที่ 7 แอสเตอร์ดาวอังคาร
     2.6 แอสเตอร์ดาวจุฬา เป็นแอสเตอร์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ มีชื่อว่า "Pink Star"
ช่อดอกยาว แตกกิ่งย่อยขนาดไล่เลี่ยกัน ดอกขนาดเล็กกว่าแอสเตอร์ดาวพระศุกร์ ดอกชั้นนอกมีสีชมพูสวยงาม ดอกชั้นในสีเหลือง ใบเรียวเล็ก ขอบใบหยัก ปลูกเป็นไม้ตัดดอกได้ดี
[8]ภาพที่ 8 แอสเตอร์ดาวจุฬา
การขยายพันธุ์
    การขยายพันธุ์ ทำได้ 3 วิธี ดังนี้
              1. การเพาะเมล็ด การเพาะในภาชนะ เช่น ตะกร้าพลาสติกโปร่ง โดยมีความลึกของภาชนะประมาณ 2.5 – 3 นิ้ว ปูพื้นและด้านข้างของตะกร้าด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ 2 ชั้น วัสดุเพาะใช้ดิน : ทราย : ขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1 : 1 : 1 ปรับหน้าดินให้เรียบ ตีร่องลึกประมาณ 0.5 ซม. แต่ละร่องห่างกันประมาณ 2.5 ซม. โรยเมล็ดลงในร่องบาง ๆ เนื่องจากเมล็ดมีขนาดเล็ก จึงควรนำเมล็ดผสมรวมกับทรายละเอียดแห้ง อัตรา 1 : 10 กลบเมล็ดด้วยวัสดุเพาะบาง ๆ พอมิดเมล็ด ปิดทับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์อีกชั้นหนึ่งแล้วรดน้ำและรดยาป้องกันกำจัดโรคและแมลง รดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หลังจากเพาะประมาณ 5 - 10 วัน เมล็ดจะงอก
              การเพาะในแปลงเพาะ เป็นวิธีการเพาะที่ได้ผลดีเช่นเดียวกับการเพาะในภาชนะ ถ้าหากมีการปฏิบัติดูแลอย่างใกล้ชิด วัสดุเพาะ การดูแลอื่น ๆ และการปฏิบัติเช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดในภาชนะ ต่างกันที่ต้องยกแปลงเพาะขึ้นมา การทำแปลงเพาะแบบนี้เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีความชำนาญแล้ว หลังจากกล้างอกแล้วไม่ต้องย้ายกล้าลงไปชำในถุง สามารถย้ายปลูกได้เมื่อต้นกล้ามีใบจริงประมาณ 4 ใบ เทคนิคการทำให้เมล็ดแอสเตอร์งอกเร็วและสม่ำเสมอ โดยการนำเมล็ดไปแช่ในน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 40 องศาเซลเซียส นานประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงก่อนหว่านจะทำให้เมล็ดงอกภายใน 3 - 5 วัน หลังจากงอกประมาณ 2 สัปดาห์หรือมีใบจริง 1 - 2 คู่ จึงทำการย้ายกล้าซึ่งมี 2 วิธี คือ
     1) การย้ายกล้าลงในถุงชำ โดยใช้ถุงขนาด 10 x 15 เซนติเมตร โดยใช้วัสดุปลูก คือ
ดิน : ทราย : ปุ๋ยคอก : ขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 2 : 2 : 1 : 1 เลี้ยงไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงย้ายปลูกลงแปลงอีกครั้งหนึ่ง วิธีการนี้ไม่ค่อยนิยมเพราะว่า เสียค่าใช้จ่ายและแรงงานเพิ่มขึ้น
     2) การย้ายปลูกลงแปลง
    2. การแยกหน่อ เป็นการขยายพันธุ์จากยอด หรือหน่อ จะต้องชำให้ออกรากในกระบะพลาสติกเสียก่อน วัสดุที่ใช้เป็นดิน : ทราย : ขี้เถ้าแกลบ อัตรา 1 : 1 : 1 ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ในการออกรากแล้วย้ายแต่ละต้นลงปลูกในถุงพลาสติกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก็สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้
    3. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สามารถเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ปลอดโรคได้ปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็วเหมาะที่จะนำไปใช้ขยายพันธุ์แอสเตอร์พันธุ์ใหม่ ๆ
การปลูกและการดูแลรักษา
    1. การปลูก ดินควรเป็นดินร่วน ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุ ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน 6.5 - 7.0 เตรียมแปลงปลูกกว้างประมาณ 1 เมตร ใช้ระยะปลูก 20 x 20, 25 x 25 หรือ 25 x 30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 1 ช้อนโต๊ะ ปุ๋ยร็อคฟอสเฟต อัตรา 1 ช้อนชา ปุ๋ยคอก อัตรา 1 กำมือ นำต้นกล้าจากถุงชำ หรือจากแปลงเพาะมาปลูก ถ้าย้ายปลูกลงแปลงเลยควรจะย้ายในช่วงเย็น อย่าปลูกให้ลึกเนื่องจากเวลาให้น้ำจะทำให้ดินกลบยอด ต้นกล้าจะเน่าตายภายหลังได้ รดน้ำให้ชุ่ม ในกรณีที่ทำเป็นไม้กระถาง ใช้กระถางขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว วิธีปลูกปฏิบัติเช่นเดียวกัน ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมคือช่วงฤดูหนาว ดอกจะได้ใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่พอดี
    2. การดูแลรักษา
    2.1 การให้น้ำ ในระยะกล้าไม่ควรให้น้ำมากเกินไป หลังจากย้ายปลูกลงในกระถางหรือลงแปลงปลูกแล้วควรรดน้ำให้โชก ถ้าเป็นไปได้ควรรดน้ำวันละครั้งในตอนเช้า เมื่อดอกเริ่มบาน ไม่ควรรดน้ำให้โดนดอกเพราะจะทำให้ดอกเน่าและเป็นโรคง่าย ส่วนการปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์นั้น หลังจากที่ดอกเริ่มแก่ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าขาดน้ำในช่วงนี้จะทำให้เปอร์เซ็นตก์ารติดเมล็ดลดลง
    2.2 การใส่ปุ๋ย ในระยะกล้าควรใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ละลายน้ำในอัตรา 1 – 2 ช้อนแกง
ต่อน้ำ 20 ลิตร รดให้ทั่วแล้วรดน้ำตามอีกครั้ง ควรรดปุ๋ยทุก ๆ 5 - 7 วัน จะทำให้กล้าโตเร็ว หลังจากย้ายกล้าประมาณ 30 วัน ให้ปุ๋ยสูตร 12-24-12, 15-15-15 หรือ 15-30-15 อัตรา 1 ช้อนชาต่อต้น โดยโรยรอบโคนต้นแนวรัศมีทรงพุ่มแล้วกลบด้วยดิน และใส่หลังจากนี้ทุก ๆ 15 วัน นอกจากนี้ควรให้ปุ๋ยทางใบเช่น ปุ๋ยเกล็ดเชลล์ เวลโกร ไบโฟลาน หรือราพีด อัตรา 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดไปบนต้นทุก 3 วันต่อครั้ง ทำให้ต้นเจริญเติบโตและสมบูรณ์มากขึ้น แต่มีข้อควรระวัง คือ ถ้าดอกเริ่มบานแล้วไม่ควรรดปุ๋ยให้โดนดอก เพราะจะทำให้ดอกมีสีซีดลง ก้านดอกอ่อนและบานไม่ทน
การตัดดอก
    มากาเร็ตและพีค็อกเป็นพืชอายุสั้น จะให้ดอกทันทีที่มีอายุครบ 90 – 120 วัน หรือประมาณ 3 - 4 เดือน นิยมเก็บเกี่ยวโดยการถอนขึ้นมาทั้งต้นเพื่อจำหน่าย เวลาที่เหมาะสมคือเช้าตรู่หรือตอนเย็น โดยสังเกตจากดอกที่เกิดจากส่วนยอดของต้นเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ส่วนดอกที่เกิดจากกิ่งแขนง อาจจะตูมอยู่เล็กน้อย โดยจะเลือกถอนเป็นรุ่น ๆ ห่างกันประมาณ 5 – 7 วัน หรือแล้วแต่ความต้องการของตลาด หลังจากถอนขึ้นมาแล้ว นำต้นไปล้างเอาดินที่ติดรากออกให้หมดและเด็ดใบที่โคนต้นออก 5 – 6 ใบ ก่อนที่จะนำมาบรรจุหีบห่อเป็นกำเล็ก ๆ ใน 1 กำ มี 2 – 3 ต้น แล้วมัดรวมเป็น มัดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง จากนั้นห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ให้มิดชิด เพื่อนำส่งตลาดค้าปลีกหรือส่งให้พ่อค้าคนกลางมารับต่อไป การบรรจุหีบห่อเช่นนี้จะสามารถขนส่งได้นานประมาณ 12 ชั่วโมง โดยจะทำให้ดอกเหี่ยวเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อนำไปแช่น้ำดอกจะสดเหมือนเดิม
    สำหรับกรณีการตัดดอกจำหน่าย ในการตัดควรสังเกตจากดอกที่เกิดจากส่วนยอดของต้นเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ส่วนดอกที่เกิดจากกิ่งแขนงอาจจะตูมอยู่เล็กน้อย หลังจากนั้นใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มทับเพื่อเตรียมส่งตลาดต่อไป หลังจากตัดดอกครั้งแรกแล้ว ควรงดให้น้ำเพื่อให้ดินแห้งแล้วทำการตัดต้นออกให้ถึงโคนและให้น้ำตามปกติ เมื่อเริ่มแตกหน่อใหม่จึงเพิ่มการให้น้ำมากขึ้น ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 ก็จะให้ดอกอีกรุ่นหนึ่ง เมื่อได้ดอกรุ่นที่ 2 แล้วให้ปฏิบัติเหมือนเดิมก็จะได้ ดอกรุ่นที่ 3 และ 4 ต่อไป
การเก็บเมล็ดพันธุ์
    ช่วงที่เหมาะสมในการปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ คือ ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นไป เมล็ดจะเริ่มแก่ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ อากาศเย็นทำให้การติดเมล็ดสูง สามารถปลูกเพื่อเก็บเมล็ดได้ในภาคเหนือหรือท้องที่ใกล้เคียงที่มีอากาศหนาวเย็นเท่านั้น การเก็บเมล็ดจะคัดเลือกต้นที่ใหญ่ สมบูรณ์แข็งแรง ดอกมีขนาดใหญ่ สีสด ฟอร์มดี ลักษณะของดอกแก่พร้อมเก็บ คือ ปลายกลีบดอกจะแห้ง เกสรจะแยกออกที่ใจกลางของดอกเป็นขุยเมื่อเก็บเมล็ดได้ นำมาตากแดดอ่อน ๆ 2 - 3 วัน เก็บไว้ในภาชนะที่ปิดสนิทนำไปเก็บไว้ในที่มีอุณหภูมิ 9 - 10 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นาน 2 - 3 ปี
การตลาด
    ตลาดแอสเตอร์ที่สำคัญมี 2 แห่ง คือ ตลาดวโรรสเชียงใหม่ และตลาดปากคลองตลาด กรุงเทพมหานคร สำหรับแอสเตอร์จีน ดอกจะมีจำหน่ายมากในฤดูหนาว โดยจำหน่ายเป็นกำ ๆ ละ 3 ต้น ราคาเฉลี่ยประมาณกำละ 5 – 10 บาท หรือเฉลี่ยกิโลกรัมละ 15 – 20 บาท (35 - 45 ต้น/กิโลกรัม)
และจำหน่ายให้ผู้ซื้อกิโลกรัมละ 35 – 40 บาท จำหน่ายย่อยต้นละ 1.50 - 2.00 บาท ส่วน Aster ericoides พันธุ์ดาวเงินจะตัดดอกขาย โดยจะขายในราคา 100 – 120 บาท/กิโลกรัม (ประมาณ 8 - 10 ช่อ) ในพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร สามารถผลิตช่อได้ 120,000 - 300,000 ช่อ/ปี
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ
    1. โรคโคนเน่า (Damping off) เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia spp. พบในระยะต้นกล้าเท่านั้น ซึ่งเชื้อนี้อาจติดมากับเมล็ด หรือตกค้างอยู่กับดินเพาะเมล็ด ทำให้โคนต้นกล้าเน่าและตายจะลุกลามอย่างรวดเร็ว ป้องกันกำจัดโดยใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น เทอราคลอร์ เทอราโซล และอบดินฆ่าเชื้อก่อนการเพาะเมล็ด
    2. โรคเหี่ยวเฉา (Fusarium Wilt) เกิดจากเชื้อรา Fusarium conglatinan callistephus พบมากและร้ายแรงที่สุดในแปลงที่เคยปลูกเบญจมาศมาก่อน ต้นที่เป็นโรคจะมีอาการเหี่ยวเฉาอย่างรวดเร็ว ปรากฏมากในระยะที่แอสเตอร์โตเต็มที่หรือก่อนออกดอก เชื้อจะเข้าทำลายส่วนล่างของลำต้น โดยจะปรากฏเป็นสีส้มตรงโคนต้นใกล้พื้นดิน หากตัดลำต้นที่ปรากฏเป็นโรคนี้ตามขวาง จะพบว่ามีวงแหวนสีน้ำตาลแดงอยู่ในบริเวณท่อน้ำและอาหาร ป้องกันกำจัดโดยใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น เทอราคลอร์ราดลงดินก่อนปลูก
    3. โรครากปม (Root Knot) แอสเตอร์ที่ปรากฏอาการของโรครากปมนี้มักไม่ตาย เพียงแต่ต้นไม่เจริญเติบโตตามปกติ มีลักษณะแคระแกรน ในตอนกลางวันที่อากาศร้อนจัดจะแสดงอาการเหี่ยวเฉา และจะฟื้นตัวในตอนกลางคืน ถ้าถอนต้นดูจะพบว่าตรงบริเวณรากจะบวมและเป็นปมเล็ก ๆ เนื่องจากมีไส้เดือนฝอยชนิดหนึ่งเข้าไปอาศัยอยู่ หากปล่อยไว้รากจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือดำ ผุและเปื่อยเร็วกว่าปกติ ไส้เดือนฝอยสามารถแพร่ระบาดได้โดยทางน้ำ ติดไปกับดิน หรือต้นที่เป็นโรค และเครื่องมือการเกษตร ป้องกันโดยใช้ เทมมิค 10 จี ฟูราดาน หรือ คูราแทร์ ฝังดิน
    4. โรคดอกสีเขียว พบว่าดอกจะมีสีเขียว ขอบกลีบดอกมีสีแดงปน ต้นแคระแกรนกว่าปกติเล็กน้อย รูปร่างของดอกไม่เปลี่ยนแปลง โรคนี้เกิดจากเชื้อไมโคพลาสมา (mycoplasma) ซึ่งถ่ายทอดมาจากวัชพืชโดยมีเพลี้ยจักจั่นเป็นพาหะ ป้องกันโดยกำจัดวัชพืชในแปลงไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของเพลี้ยจักจั่น และฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่น เช่น คาร์โบซันแฟน (พอสซ์) อิมิดาคลอพริด (โปรวาโด) เมื่อพบการเข้าทำลาย
    5. โรคราสนิม (Rust) เกิดจากเชื้อรา พบระบาดมากในช่วงฤดูฝน หรือวันที่มีน้ำค้างมาก และเกิดกับต้นขณะที่กำลังออกดอก ที่ใต้ใบพบว่ามีสีส้มคล้ายสนิมเหล็ก การป้องกัน เวลารดน้ำ ควรระวังอย่าให้น้ำถูกต้นและใบ เพราะจะทำให้เชื้อรานี้ระบาดได้ง่าย ใช้สารประกอบของกำมะถัน หรือเฟอเมทฉีดพ่นเป็นครั้งคราว
              6. เพลี้ยอ่อน (Aphids) เป็นแมลงปากดูด พบเข้าทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณส่วนอ่อนของต้น ทำให้เป็นสาเหตุของดอกและใบบิดเบี้ยว ป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลง เช่น เซฟวิน 85เพื่อกำจัดมดซึ่งเป็นพาหะของเพลี้ยอ่อน
    7. เพลี้ยไฟ (Trips) เป็นแมลงซึ่งทำอันตรายแก่ใบอ่อนของแอสเตอร์ ทำให้ใบมีอาการหงิกงอ เพลี้ยไฟนอกจากจะทำลายแอสเตอร์โดยตรงแล้ว ยังเป็นพาหะแพร่เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคเหี่ยว (Spotted Wilt) แก่ต้นแอสเตอร์อีกด้วย ป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมีกำจัดแมลง เช่น โตกุไธออน หรือมาลาไธออน ฉีดพ่นทุก 1 - 2 สัปดาห์ เมื่อตรวจพบเพลี้ยไฟเข้าทำลาย
    8. ไรแแดง (Spider Mite) ชอบทำลายยอดอ่อนทำให้ดอกไม่สมบูรณ์ มีลักษณะแคระแกร็น บางครั้งพบว่าทำลายใบโดยการดูดน้ำเลี้ยงจากใบทำให้ใบร่วง ป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมีกำจัดไร เช่น เคลเทน ฉีดพ่นเมื่อพบการเข้าทำลาย
    9. หนอนเจาะดอก จะเข้าทำลายโดยกัดกินดอกอ่อนและเมล็ดอ่อน ทำให้ดอกเสียหาย เมล็ดไม่สมบูรณ์ และเปอร์เซ็นต์การติดเมล็ดน้อยลง ป้องกันจำกัดโดยใช้สารเคมีกำจัดแมลง เช่น แลนเนท เซฟวิน 85 ฉีดพ่นทุก 1 - 2 สัปดาห์